การเมืองและชีวิตหลังบำนาญ ของ พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช)

ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ไม่นาน พระยาอธิกรณ์ประกาศ ในฐานะอธิบดีกรมตำรวจและข้าราชบริพารใกล้ชิด สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนคร และเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ได้ถวายรายงานต่อพระองค์ท่านถึงรายชื่อบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎร ที่มีพฤติการณ์น่าสงสัยว่าจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อบ้านเมือง แต่พระองค์ท่านไม่ทรงเชื่อ ด้วยทรงเห็นว่าบุคคลเหล่านี้ไม่น่ามีศักยภาพเพียงพอ

แต่ทางตำรวจโดยพระยาอธิกรณ์ประกาศ ก็ยังได้ส่งตำรวจภูบาล (ตำรวจสันติบาล ในปัจจุบัน) เฝ้าดูการเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ ในคณะราษฎรอย่างใกล้ชิดถึงบริเวณหน้าบ้านพัก

ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 อันเป็นวันที่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาอธิกรณ์ประกาศ ได้ทราบรายงานเรื่องการปฏิวัติ ขณะที่นอนหลับอยู่ในบ้านพัก เมื่อสายตำรวจรายงานเข้ามาว่า มีบุคคลกลุ่มหนึ่งเข้าทำการยึดกรมไปรษณีย์โทรเลข และตัดสายโทรศัพท์ โทรเลข ไว้ได้หมดแล้ว จึงเดาเรื่องราวทั้งหมดออก และตัดสินใจเดินทางเข้าสู่วังบางขุนพรหมทันที พร้อมกำลังตำรวจ เพื่อเข้าเฝ้าถวายรายงานแด่ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ[19] เมื่อพระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) เป็นผู้นำกองกำลังในการบุกเข้ามายังวังบางขุนพรหม เมื่อทรงทราบ และกำลังจะทรงหนีทางท่าน้ำหลังวังพร้อมด้วยครอบครัวและข้าราชบริพารจำนวนหนึ่ง แต่ยังทรงลังเลเมื่อมีเรือตอร์ปิโดหาญทะเลของทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรที่ควบคุมโดย เรือโท จิบ ศิริไพบูลย์ คอยลาดตระเวนดูอยู่ เมื่อทางพระประศาสน์ฯมาถึง พระยาอธิกรณ์ประกาศจะชักปืนยิง แต่ทางหลวงนิเทศกลกิจ (กลาง โรจนเสนา) ทหารเรือฝ่ายคณะราษฎรได้กระโดดเตะปืนจากมือของพระยาอธิกรณ์ประกาศกระเด็นลงพื้นเสียก่อน จึงยิงไม่สำเร็จ [20]

หลังจากนั้น พระยาอธิกรณ์ประกาศได้ถูกควบคุมตัวในพระที่นั่งอนันตสมาคม อันเป็นที่บัญชาการของคณะราษฎร เฉกเช่นเจ้านายพระองค์อื่น และบุคคลสำคัญต่าง ๆ ด้วย และถือเป็นข้าราชการคนแรกที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งในวันเดียวกันนั้นเอง โดยคำสั่งของผู้รักษาพระนคร คือ พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะราษฎร และได้ประกาศให้ พระยาบุเรศผดุงกิจ (รวย พรหโมบล) ขึ้นมารักษาการตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจแทน[21] ต่อมาในวันที่ 2 กรกฎาคม ปีเดียวกัน ก็ได้รับการปลดให้พ้นจากราชการโดยพระบรมราชโองการ เมื่อออกรับพระราชบำนาญแล้ว ได้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านด้วยการทำงานอดิเรก คือ ปลูกต้นไม้ และเลี้ยงไก่ จนถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2497 จึงป่วยเป็นไตพิการกำเริบ แพทย์รักษาสุดความสามารถ จนถึงอนิจกรรม เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 สิริอายุได้ 78 ปี

แหล่งที่มา

WikiPedia: พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช) http://www.dailynews.co.th/article/349/146952 http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2466/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2472/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2475/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2457/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2451/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2455/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2459/D/... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2465/D/...